วิธีหั่นหัวหอมไม่ให้เสียน้ำตา

ทุกครั้งเลยเวลาเข้าครัวเตรียมหัวหอมสำหรับใช้ประกอบอาหาร ไม่ว่าจะหั่นน้อย หรือ หั่นเยอะ ก็ต้องเสียน้ำตา ร้องไห้ น้ำตาตกอยู่เป็นประจำ ไม่อยากร้องไห้ทั้งที่ไม่ได้เศร้าตอน หั่นหัวหอม อีกแล้ว จะมีวิธีไหนบ้างที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ กินดีอยู่ดีมี 3 ทางออกมาให้เลือกใช้กันค่ะ

ทำไมถึงแสบตาเวลา หั่นหัวหอม

หั่นหัวหอม

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแสบตาจนน้ำตาไหลแหมะ ๆ ทุกครั้งเวลาหั่นหัวหอม ไม่ว่าจะเป็นหอมหัวใหญ่ หอมแดง หรือหอมชนิดอื่น ๆ นั้น เพราะว่าในหัวหอมมีสารประกอบที่ชื่อ ” Lachrymator “ ซึ่งทำให้แสบตา เมื่อเราใช้มีดหั่นหอม สารดังกล่าวก็จะระเหยออกมาจับกับที่ที่ชื้นที่สุด นั้นก็คือดวงตาของเรา ซึ่งส่งผลต่อทำให้่เกิดอาการแสบเคืองจนน้ำตาไหลออกมานั้นเองค่ะ ซึ่ง 4 วิธีการหั่นหัวหอมที่กินดีอยู่ดีนำมาบอกในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มจุดกำเนิดความชื้น ให้สารประกอบ Lachrymator ไปเกาะแทนดวงตาของเราค่ะ

3 วิธี หั่นหัวหอม แบบไม่เสียน้ำตา

หั่นหัวหอม

หั่นหัวหอมวิธีที่ 1

เมื่อปอกเปลือกหัวหหอมออกจนหมดแล้ว หั่นแบ่งหัวหอมออกเป็น 4 ส่วนแล้วแช่ในน้ำประมาณ 10 นาที ก่อนนำขึ้นมาหั่น เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วให้นำขึ้นสะเด็ดน้ำก่อนนำไปใช้ปรุงอาหาร หรือนำไปซอยให้มีขนาดเล็กลงต่อไปได้เลยค่ะ

หั่นหัวหอมวิธีที่ 2

วิธีนี้ไม่ต้องเอาหัวหอมไปแช่น้ำแบบวิธีที่ก่อนหน้า แต่ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าสะอาด ๆ ชุปน้ำให้ชุ่มแล้ววางไว้ข้าง ๆ ในขณะหั่นหัวหอม สารระเหยที่ออกมาขณะหั่นหอมจะไปติดกับกระดาษทิชชู่ชุปน้ำแทนที่จะลอยมาจับกับตาเรานั้นเองค่ะ

หั่นหัวหอม

หั่นหัวหอมวิธีที่ 3

วิธีนี้ไม่ต้องแช่น้ำหรือเอากระดาษทิชชู่ชุบน้ำ แต่ใช้ความเย็นเข้ามาช่วย ไม่ให้เราแสบตา เมื่อปอกเปลือกหัวหอมจนหมดแล้ว ให้นำหัวหอมเปลือย ๆ แช่ตู้เย็นในช่องธรรมดาทิ้งไว้ประมาณ 20 – 30 นาที ค่อยนำออกมาหั่น ความเย็นจากตู้เย็นจะช่วยชะลอให้สารระเหยในหัวหอม ระเหยออกมาได้ช้าลงกว่าการหั่นหัวหอมที่ทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติ

อีกอย่างสุดท้ายไม่นับว่าเป็นวิธีแก้ แต่เป็นจุดสังเกตในการหั่นหัวหอมแล้วกันค่ะ สารประกอบ Lachrymator ที่ได้พูดถึงไปข้างต้นนั้นจะก่อตัวหนาแน่นอยู่ที่บริเวณราก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบร้อนตัดขั้วรากออก ให้หั่นหัวหอมจากหัวก่อน เก็บรากไว้ตัดทิ้งตอนสุดท้ายดีที่สุด อีกอย่างที่ต้องดูเลยก็คือความคมของมีด ถ้าไม่อยากแสบตา ให้เลือกใช้มีดที่มีความคม เพราะทุกครั้งที่ออกแรงกดมีดลงไป จะลดความช้ำ ลดการกระจายตัวของสารระเหยที่ว่านั้นได้มากกว่าค่ะ


Story : อรญา ไตรหิรัญ

Photo : วาระ สุทธิวรรณ

ช่องทางการติดตามกินดีอยู่ดี
Facebook : https://www.facebook.com/KindeeyuudeeTH
Instagram : @kindeeyuudeeth
Tiktok : @kindeeyuudeeth
ติดตามสูตรอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่