เวลาซื้อถั่วงอกมาวางทิ้งไว้รอปรุงอาหารเดี๋ยวเดียว สีน้องเริ่มเปลี่ยน จากขาว ๆ อวบ ๆ ตอนอยู่หน้าแผง ทำไมกลับมานอนรอปรุงอาหารที่บ้านเรากลายเป็นสีหมอง ออกจะดำคล้ำไม่น่าทานเอาซะเลย จริงอยู่ว่าถั่วงอกเหล่านี้ที่สีเปลี่ยนไม่ได้เสีย หรือเน่าอะไร แต่ถ้าอยากให้สีของถั่วงอกคงความขาว อวบ ให้นานขึ้น ตามกินดีอยู่ดีไปดู วิธีเก็บถั่วงอก ที่ช่วยล๊อคความขาวให้อยู่นานขึ้นกันค่ะ
1 . เมื่อซื้อถั่วงอกมาแล้ว จัดการล้างให้สะอาด ประมาณ 3 น้ำ ในระหว่างนี้ถ้าเจอถั่วงอกที่เริ่มเน่า หรือเจอเมล็ดถั่วสีดำๆที่จังติดอยู่ที่ต้น คัดออกได้เลยค่ะ สังเกตที่สีของน้ำที่ล้างถั่วงอก ถ้าเปลี่ยนจากสีขาวขุ่นเป็นสีเริ่มใสเป็นอันใช้ได้ค่ะ
2 . เตรียมน้ำสะอาดใส่กะละมังเอาไว้ จากนั้นเติมน้ำส้มสายชูประมาณ 2 ช้อนโต๊ะลงไป คนใช้น้ำส้มสายนชูผสมเข้ากับน้ำสะอาด จากนั้นนำถั่วงอกที่ล้างสะอาดเมื่อซักครู่นี้ แช่ไว้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชูทิ้งไว้ประมาณ 2 นาที
3 . เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วนำถั่วงอกขึ้น สะเด็ดน้ำให้เรียบร้อย พยายามให้ถั่วงอกช้ำนะคะ
4 . เตรียมกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิด จากนั้นใส่ถั่วที่สะเด็ดน้ำเมื่อซักครู่นี้ลงไป
5 . เติมน้ำสะอาดให้พอท่วมถั่วงอก
6 . ปิดฝาแล้วแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาได้เลยค่ะ วิธีเก็บถั่วงอก แบบนี้ จะช่วยทำให้ยืดความขาวอวบ ออกไปได้นานถึง 2 สัปดาห์เลยค่ะ ( แต่ทางนี้เหลือเก็บไม่ถึงอาทิตย์ เอาออกมาทานหมดก่อนตลอดเลยค่ะ ^^ )
ถั่วงอกทานได้ทั้งแบบดิบและแบบสุก แต่การรับประทานถั่วงอกแบบดิบเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดอาการท้องอืด เนื่องจากถั่วงอกดิบมีคาร์โบไฮเดรตประเภทโอลิโกแซคคาไรด์ ที่มีชื่อว่า น้ำตาลแรฟฟิโนส (raffinose) และ สตาซิโอส (stachyose) ซึ่งทั้งสองตัวนี้ ไม่สามารถย่อยด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของเราได้ พอถั่วงอกเดินทางไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียจะย่อยและปล่อยก๊าชออกมา ทำให้เรารู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด ได้นั้นเองค่ะ การเลือกทานถั่วงอกที่ปรุงสุกมาแล้ว จึงเป็นทางเลือกที่ละมุนละไมกับท้องเรามากกว่า วิธีการปรุงสุกสำหรับถั่วงอกแนะนำให้ใช้ความร้อนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การลวก การผัด เพื่อให้วิตามินที่มีอยู่ในถั่วงอก ไม่สลายหายไประหว่างทางนั้นเอง
ถั่วงอกในท้องตลาดแบ่งเป็น 2 อย่างคือ ถั่วงอกที่ได้จากถั่วเขียว ชนิดนี้เป็นที่นิยม หาซื้อง่าย และอีกประเภทคือ ถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลือง หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่าถั่วงอกหัวโต ที่มักจะเห็นในเมนูอาหารเกาหลี ทั้งในจานหลักและเมนูเครื่องเคียง
Story : อรญา ไตรหิรัญ
Photo : วาระ สุทธิวรรณ.