ปลาผัดขึ้นฉ่าย กับความอร่อย ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยกลิ่นหอม ๆ จากขึ้นฉ่ายนั่นเองค่ะ ที่สำคัญทำไม่ยาก จะทานคู่กับข้าวต้ม หรือ ข้าวสวย ก็ได้หมด
ปลาผัดขึ้นฉ่าย
ส่วนผสม
- เนื้อปลากระพง
- แป้งทอดกรอบ
- น้ำมัน สำหรับทอด
- กระเทียม
- พริกแดงจินดา
- ขึ้นฉ่าย
- เต้าเจี้ยว
- น้ำมันหอย
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำตาลทราย
- กระเทียมเจียว สำหรับโรยหน้า
ขั้นตอนการทำ
เริ่มจากหั่นชิ้นปลา ขนาดตามชอบ นำไปคลุกแป้งทอดกรอบ แบบแห้ง ๆ แล้วนำไปทอดในน้ำมันร้อน จนเหลือง กรอบ สะเด็ดน้ำมัน พักไว้
มาหั่นผักกันค่ะ ซอยพริก กระเทียม แล้วหั่นขึ้นฉ่ายเป็นท่อนยาว ๆ
มาเริ่มผัดกันค่ะ ใส่น้ำมันลงกระทะเล็กน้อย นำพริก กระเทียม ลงผัด พอหอม ปรุงรสขั้นตอนนี้ได้เลย ใส่เต้าเจี้ยว น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว และน้ำตาลทราย ตามด้วยขึ้นฉ่าย พอผักเริ่มสลด ใส่ปลาทอดลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันดี
ทานคู่กับข้าวสวย ร้อน ๆ
ขึ้นฉ่าย
พาทุกคนมารู้จักกับวัตถุดิบใกล้ตัวอย่าง ขึ้นฉ่าย ผักที่เรามักกินกันบ่อยๆ ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารหลากหลายเมนู แต่นอกจากกลิ่นหอมเฉพาะตัวและรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์ดี ๆ แฝงอีกเพียบ มาดูกันเลยจ้า…
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับขึ้นฉ่ายเสียก่อน!
ขึ้นฉ่าย (คื่นไฉ่) หรือ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ภาษาอังกฤษ Celery (เซเลอรี) (มักสะกดผิดเป็น “คื่นช่าย” หรือ “คื่นฉ่าย” หรือ “คึ่นไช่“)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นขึ้นฉ่ายในบ้านเรานั้น มักนิยมปลูกกันมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง Celery (เซเลอรี) และ ขึ้นฉ่ายจีน ซึ่งขึ้นฉ่ายฝรั่งลำต้นจะอวบใหญ่มากคื่นฉ่ายจีน เป็น พืชล้มลุก ลักษณะของต้นมีดังนี้
- ลำต้นขึ้นฉ่าย ความสูงของต้นประมาณ 1 ฟุต ลำต้นมีลักษณะกลวง มีกลิ่นหอม อายุของขึ้นฉ่ายไม่เกิน 2 ปี
- ใบของขึ้นฉ่าย ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก สีเขียวอมเหลือง ใบลักษณะเป็นรูปลิ่มหยัก ขอบใบหยักเป็นแฉก รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปห้าเหลี่ยม มีก้านใบยาวแผ่ออกจากกาบใบ
- ดอกของขึ้นฉ่าย ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว ออกเป็นช่อ
- ผลของขึ้นฉ่าย มีลักษณะกลมรี สีน้ำตาล ขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ขึ้นฉ่าย เป็นผักที่มีฤทธิ์เย็น รสชาติขมอมหวาน ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติเป็นยาที่สามารถใช้รักษาโรคได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยในขึ้นฉ่ายนั้นมีสารเคมีหลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ สารไกลโคไซด์ที่ชื่อว่า เอพิอิน น้ำมันหอมระเหยที่ส่วนประกอบของสารไลโมนีน ซีลินิน สาร 3-บิวทิลฟทาไลโดส์ สารพโซราเลนส์ และสารโพลีอะซิทิลีน นอกจากนี้ก็ยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่หลากหลายชนิด มาดูกันเลย…
- ป้องกันการอักเสบ เนื่องจากมีฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ส่งเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบในกลุ่มโรคลูปัส (Lupus) รูมาตอยด์ หอบหืด โรคปอด และช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ ปวดศีรษะ ปวดท้องประจำเดือน รวมถึงช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดไขมันในเลือด โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
- มีสารฟลาไลด์ (Phthalide) ที่ส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือด ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวได้ดี ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยขับปัสสาวะ ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- มีกากใยและสารต้านอนูมูลอิสระ ที่เป็นผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะ แผลในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมบรรเทาอาการท้องอืด แน่นท้อง
- บำรุงร่างกาย บำรุงตับและไต
- มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น
- ใช้รับประทานเป็นผัก ช่วยเพิ่มรสชาติ ช่วยดับกลิ่นคาวอาหาร และช่วยเพิ่มความหอมของน้ำซุป เพราะในขึ้นฉ่ายมีสารจำพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งได้แก่ ไลโมนีน (Limonene), ซีลินีน (Selinene), ฟทาไลด์ (Phthaildes) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเฉพาะตัว
- ในเมล็ดขึ้นฉ่ายมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยในการขับลม และนำไปสกัดใช้ไล่ยุงได้
- ขึ้นฉ่ายสามารถช่วยป้องกันโรคซิลิโคซิส (Silicosis) หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสูดฝุ่นที่มีส่วนประกอบของซิลิก้าเข้าไป
- ขึ้นฉ่ายเป็นหนึ่งในผักที่มีสารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกัน DNA ถูกทำลาย ช่วยลดอาการอักเสบ และป้องกันมะเร็งด้วยการไปยับยั้งการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็งในร่างกาย
- บำรุงสายตาและผิวพรรณ เนื่องจากในผักขึ้นฉ่ายนั้นประกอบไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และเบตาแคโรทีน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการรับประทานขึ้นฉ่าย
- การรับประทานในปริมาณมากเกินไป ในเพศชายอาจจะทำให้เป็นหมันได้ และจะทำให้อสุจิลดลงถึง 50% แต่ถ้าหากหยุดรับประทานแล้ว จำนวนของเชื้ออสุจิ จะกลับสู่ระดับปกติในระยะเวลา 8-13 สัปดาห์
- ในบางรายอาจเกิดอาการแพ้จากการสัมผัสต้นขึ้นฉ่ายจนถึงขั้นรุนแรงได้
- สารสกัดจากต้นอาจช่วยเร่งให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากขึ้น
- การใช้ประกอบอาหาร ไม่ควรผัดหรือต้มให้สุกนานเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินและเกลือแร่ที่มีอยู่ให้หมดไป
ข้อมูล – ชีวจิต
Story : เนื้อทอง ทรงสละบุญ
Photo : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ