เข้าสู่ฤดูกาลของ มะยงชิด พาทำเมนูขนมหวานสุดฮิต ไม่ง้อเตาอบ “มะยงชิดชีสพาย” เมนูผสมผสานผลไม้ไทยตามฤดูกาล ทำง่ายมากบอกเลย
มะยงชิดชีสพาย
ส่วนผสม
แครกเกอร์ 200 กรัม
เนยจืด ละลาย 150 กรัม
.
ครีมชีส 250 กรัม
นมข้น 120 กรัม
น้ำมะนาว 60 กรัม
.
เจลาตินผง 7 กรัม
น้ำเปล่า 35 ml.
.
มะยงชิด
ขั้นตอนการทำ
เริ่มจาก ทุบหรือบดแครกเกอร์ให้ละเอียด
ใส่เนยละลายลงไปคนผสมให้เข้ากัน
ตักใส่พิมพ์ เพื่อรองเป็นฐาน
มาปอก มะยงชิดกันค่ะ แยกสวยๆ ไว้สำหรับแต่งหน้าขนม
ส่วนที่เหลือเอามาหั่นเป็นเส้นๆ ไว้ผสมกับเนื้อครีมชีส
ทำตัวครีมกันค่ะ ตีครีมชีสให้อ่อนตัวซะก่อน
ต่อด้วยการเติมนมข้นหวาน และน้ำมะนาว ลงไป ผสมให้เข้ากันดี จึงละลายเจลาตินใส่ลงไป แล้วคนผสมให้เข้ากันอีกครั้ง
ใส่เนื้อมะยงชิดหั่นเส้นลงไป แล้วผสมให้เข้ากัน
ตักใส่พิมพ์ตามชอบ นำไปแช่ตู้เย็น จนเซ็ตตัว
แต่งหน้าด้วยมะยงชิดชิ้นโตๆ แช่ให้เย็นจัดๆ พร้อมทานแล้วค่ะ
ไขคำตอบ…..แฝดคนละฝา
มะยงชิด กับ มะปราง ต่างกันอย่างไร ??
เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า มะยงชิด กับ มะปรางหวาน ต่างกันอย่างอย่างไร ??
มะปราง (Bouea macrophylla Griff.) บางท่านเอาไปรวมกันกับมะยงชิด แต่จากฐานข้อมูล The Plant List ซึ่งรีวิวเมื่อปี 2012 ยังจำแนกแยกออกจากกัน เช่นเดียวกับการจำแนกของกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สายพันธุ์มะปราง มีความหลากหลายสูงมาก เนื่องจากสมัยก่อนปลูกด้วยเมล็ดและมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีรสชาติดีเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง สายพันธุ์มะปรางที่เป็นรู้จัก เช่น พันธุ์ท่าอิฐ พันธุ์แม่ระมาด พันธุ์ลุงชิด พันธ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์สุวรรณบาตร พันธุ์ลุงพล พันธุ์ลุงประทีป พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์อีงอน พันธุ์เพชรคลองลาน พันธุ์เพชรหวานกลม พันธุ์แม่อนงค์ พันธุ์เพชรหวานยาว พันธุ์เพชรนพเก้า พันธุ์เพชรเหรียญทอง พันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์หวานไข่ทอง เป็นต้น
มะยงชิด (Bouea oppositifolia (Roxb.) Meisn.) เมื่อสุกจะมีสีเหลืองส้ม ในอินโดนีเซียพบผิวสีแดงก็มี มะยงชิดที่มีรสเปรี้ยว ถูกเรียกว่า “มะยงห่าง” ซึ่งหมายถึงห่างจากความหวานนั้นเอง มะยงชิดมีรสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดผลเท่า ๆ กับมะปรางไปจนถึงใหญ่กว่าไข่ไก่ก็มี เมื่อก่อนชาวสวนปลูกโดยใช้เมล็ดจึงทำให้เกิดสายพันธุ์หลากหลายมาก พันธุ์ไหนรสชาติถูกปากก็ทำเป็นกิ่งตอนหรือทาบกิ่งขยายพันธุ์ไปปลูกอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ที่ลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก ไปจนถึงภาคเหนือ และภาคใต้ คาดการณ์ว่าอีกไม่นานผลไม้นี้จะกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทย และหลายประเทศในภูมิภาคนี้
สายพันธุ์ “มะยงชิด” หลากหลายมากเช่นกัน ตัวอย่างสายพันธุ์ที่รู้จัก เช่น พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสง่า พันธุ์ชิดบุญส่ง พันธุ์เพชรกลางดง พันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์เพชรชากังราว พันธุ์ทองใหญ่หัวเขียว พันธุ์สีทอง พันธุ์ชิดสาลิกา พันธุ์เจ้าสัว พันธุ์พูลศรี พันธุ์ลุงฉิม พันธุ์พระอาทิตย์ พันธุ์สวนนางระเรียบ พันธุ์สวนนางอ้อน พันธุ์ลุงยอด พันธุ์ลุงเสน่ห์ พันธุ์ดาวพระศุกร์ เป็นต้น
การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โดย กรมอนามัย พบว่า “มะยงชิด” มีเบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน การรับประทานผลไม้กลุ่มนี้จึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย เช่น โรคหวัด
- เบต้าแคโรทีนสูง ต้านอนุมูลอิสระ : มะยงชิดมีเบต้าแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงที่ก่อเกิดโรคมะเร็ง และยังช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง สดใส
- วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา : เมื่อร่างกายได้รับเบต้าแคโรทีนแล้วจะเปลี่ยนให้เป็นวิตามินเอ ทำให้มะยงชิดอุดมไปด้วยวิตามินเอซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตาและโอกาสการเกิดต้อกระจกเมื่อมีอายุมากขึ้นได้
- วิตามินซี เสริมภูมิต้านทาน : วิตามินซีจะช่วยบำรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ไม่ให้เจ็บป่วยง่าย และยังป้องกันเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย
- แคลเซียมและฟอสฟอรัส ลดความเสี่ยงโรคกระดูก : มะยงชิดมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่ด้วย ซึ่งสารอาหารทั้ง 2 อย่างนี้มีความสำคัญต่อกระดูกมาก ๆ เพราะช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันของเราแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อมได้
นอกจากนี้ มะยงชิดยังมีวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมาก เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน ใยอาหาร เป็นต้น
ข้อมูล สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
Story : เนื้อทอง ทรงสละบุญ
Photo : วาระ สุทธิวรรณ